วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังสร้างเอกลักษณ์ของตนเองตามความถนัด ทัศนคติ และค่านิยมของชีวิต โดยเฉพาะช่วงตอนกลางในช่วงอายุ 14 - 16 ปี ที่เริ่มมุ่งเน้นการค้นหาตนเอง ต้องการค้นหาความสามารถพิเศษ ข้อดี ข้อด้อยของตน และพร้อมที่จะพัฒนาแก้ไขในข้อบกพร่องนั้น เพื่อสร้างความภูมิใจในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง การได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ คนในครอบครัว คุณครู เพื่อนฝูง และบุคคลในสังคม
บางครั้งการค้นพบตัวเองของเด็กในช่วงวัยนี้คนหนึ่งก็เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายเลย แม้แต่ในผู้ใหญ่บางคนเองก็ยังไม่รู้เลยว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร ต้องการอะไร และจุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร วันนี้เราจึงได้รวบรวมเทคนิค วิธีค้นหาตัวเอง เพื่อให้เข้าใจในตนเองมากขึ้น ได้พบความถนัด ความชอบ และความเป็นตัวตนของตนเอง ดังนี้
Dr. Robin Chaddock, โค้ชและผู้แต่งหนังสือ Discovering Your Divine Assignment แนะนำให้วัยรุ่น ลองค้นหาตัวเอง สำรวจตัวเอง และทำความเข้าใจในตัวเอง จากการเติมคำลงในช่องว่าง หรือการเติมประโยคต่อท้ายให้สมบูรณ์ อย่างเช่น
เมื่อฉันได้ทำ/เป็น_______________________ ฉันรู้สึกสนุกและมีความสุขมาก
ฉันชอบทำ_______________________ ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยมากก็ตาม
มันจะดีมาก หากในทุก ๆ วันที่ฉันตื่นนอน ฉันได้ตื่นมาทำ________________
หากเป็นไปได้ ฉันไม่อยากทำ/เป็น__________________เลย เพราะมันทำให้ฉันรู้สึก____________มาก
ฉันคงเสียใจมาก หากฉันไม่ได้ทำ_______________________ให้สำเร็จ
ฉันยอมรับไม่ได้ หากฉันต้องอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วย________________
มีคนบอกฉันว่า ฉันทำ_______________ได้ดีมาก
คำถามเหล่านี้เป็นวิธีค้นหาตัวเอง วิธีหนึ่งที่ท้าทายให้เราได้ทบทวนตัวเอง ทำความรู้จักกับตนเองมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การค้นพบตัวตน ความถนัด สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ และสิ่งที่ตนเองทำได้ดี
ตามทฤษฎีทางจิตวิทยา มีความเชื่อว่า “มนุษย์ทุกคนมีความถนัดที่เยี่ยมยอดด้านใดด้านหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราต้องค้นหาให้เจอ ยิ่งค้นพบได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี” (Dr. Denise Reading, ซีอีโอ GetWorkerFIT และผู้เชี่ยวชาญให้การปรึกษาด้านอาชีพแก่นักเรียน) ในปัจจุบันมี แบบทดสอบค้นหาตนเอง ทางจิตวิทยามากมายที่ช่วยเราในการประเมินศักยภาพ เพื่อให้ค้นพบตัวตนของเราในแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งตัวอย่างของแบบทดสอบบุคลิกภาพ มีดังนี้
แบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) เป็นแบบประเมินบุคลิกภาพทางจิตวิทยาชื่อดังที่ถูกใช้งานกันอย่างกว้างขวางในฝั่งยุโรป เป็นการแบ่งคนออกเป็น 16 บุคลิกภาพ เป็นแบบประเมินที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในตนเองและการเข้าใจผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการจัดการและพัฒนาตัวเองด้านอาชีพ พร้อมทั้งมีการแนะนำด้านอาชีพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคลิกภาพนั้น
แบบทดสอบค้นหาตนเอง สู่อาชีพในอนาคต Career Explorer เป็นแบบทดสอบค้นหาจากการตอบคำถามตามความระดับรู้สึกเกลียด-ไม่ชอบ-เฉย ๆ -ชอบ-รักเลย เพื่อนำผลไปวิเคราะห์หาสายอาชีพที่เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของเรา
แบบทดสอบค้นหาอาชีพ SET เป็นแบบทดสอบให้เลือกคำตอบที่คิดว่าตัวเองชอบมากที่สุด เพื่อนำไปประเมินหาบุคลิกลักษณะ ตัวตน ความถนัดของเรา พร้อมแนะนำสายอาชีพที่เหมาะสม
ข้างต้นนี้เป็นแบบตัวอย่างแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ช่วยให้เราได้ทำความรู้จักตนเองและเข้าใจในตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการเลือกสาขาวิชาเรียน หรือค้นหาอาชีพที่เหมาะกับตัวเราในอนาคตได้อีกด้วย
บางครั้งเราไม่สามารถรู้ได้ว่า เราจะชอบทำสิ่งนี้หรือไม่อย่างไร จนกว่าเราจะได้ทดลองลงมือทำ ขอแนะนำให้เด็กได้ลองทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ หลาย ๆ อย่าง แล้วเฝ้าสังเกตความรู้สึกของตนเองในขณะลงมือทำว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น “เราทำแล้วรู้สึกสนุก ท้าทาย และอยากทำต่อไปเลย” “เวลาทำรู้สึกเหนื่อยมาก แต่เมื่อทำสำเร็จก็รู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจในตนเอง” “ทำอันนี้มันก็ง่ายดีนะ แต่มันน่าเบื่อเกินไปหน่อย” เป็นต้น
เมื่อเราได้สัมผัสความรู้สึกของตนเองขณะทำได้แล้ว ก็ลองถามตัวเองว่าอะไรที่เราอยากทำมากที่สุด รู้สึกสนุก หลงใหลมากที่สุด และเมื่อพบสิ่งที่เราหลงใหลอยากทำแล้ว ก็ขอให้ลงมือทำ เรียนรู้ ฝึกฝนจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าหากลองทำแล้ว ก็ยังไม่เจอในสิ่งที่ชอบ ก็ขอแนะนำให้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบในสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ
บางครั้งความคิดเห็นของคนอื่นก็สามารถใช้เป็นกระจกสะท้อนความเป็นตัวตนของเราได้ เพราะในบางสิ่งคนอื่นอาจจะมองเห็นตัวเราได้ดีกว่าการที่เรามองเห็นตัวเอง ลองสอบถามพ่อแม่ คุณครู เพื่อนที่เราสนิท ว่าเราสามารถทำอะไรได้ดีในสายตาของพวกเขา พวกเขามองเราเป็นอย่างไร เมื่อได้คำตอบจากคนรอบข้างที่น่าเชื่อถือได้ แล้วให้ลองนำมาทบทวน วิเคราะห์ ว่าเราทำเรื่องนั้นได้ดีจริง ๆ หรือไม่อย่างไร เรารู้สึกอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ ในสิ่งที่คนรอบข้างแนะนำ
ผลการเรียน เป็นตัวบอกใบ้ความเป็นตัวเราที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด หากเรากำลังค้นหาว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร และอะไรได้ดี ให้ลองเอาผลการเรียนในปีก่อน ๆ มาวิเคราะห์ดู แล้วจดรายการวิชาที่เราทำคะแนนได้ดีออกมาทั้งหมด ให้ระบุด้วยว่าวิชาไหนที่เรียนแล้วสนุกที่สุด มีความสุขที่สุด และเป็นวิชาที่อยากศึกษาเพิ่มเติมความรู้ขึ้นไปเรื่อย ๆ และพร้อมบอกเหตุผลประกอบ
ตัวอย่างเช่น “ฉันทำคะแนนวิชาชีววิทยาได้ดี และรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียน เพราะฉันชอบเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและร่างกายมนุษย์” “ฉันก็ทำคะแนนในวิชาเคมีได้ดีเหมือนกัน แต่ฉันไม่ชอบทำการทดลองในสารเคมีต่าง ๆ เพราะฉันรู้สึกว่ามันเหม็นและอันตราย” ซึ่งการวิเคราะห์ในลักษณะนี้จะช่วยให้เรามองเห็นว่า เรามีแนวโน้มที่น่าจะเหมาะสมกับคณะแพทย์ศาสตร์ สัตว์แพทย์ หรือจุลชีววิทยา มากกว่าคณะวิทยาศาสตร์สาขาเคมี เป็นต้น
การได้ออกไปท่องเที่ยว เข้าค่ายทำกิจกรรมที่แปลกใหม่นอกสถานที่ร่วมกับผู้คนจากสังคมใหม่ ๆ จะช่วยให้เราได้เห็นในความหลากหลายของสังคมที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ได้พบปะผู้คนในหลากหลายอาชีพที่เราไม่เคยรู้จัก ได้มีประสบการณ์แตกต่างออกไป ที่ช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้และนำมาสู่การค้นพบตนเอง การเข้าใจในตนเอง และอาจได้ค้นพบสิ่งที่เราหลงใหล
ในปัจจุบันมี YouTuber จากรุ่นพี่ในหลากหลายคณะ ออกมาทำรีวิวจุดดีจุดด้อยของแต่คณะวิชา มีผู้ประสบความสำเร็จในหลากหลายอาชีพที่ออกมาแนะแนวทางในการประกอบอาชีพพร้อมแสดงความคิดเห็นในข้อดีข้อเสียในสายอาชีพนั้น ๆ หรือเราอาจจะเข้าไปสอบถามข้อมูลจากไอดอลหรือผู้ที่ทำงานในสายอาชีพที่เราสนใจ เพื่อนำข้อมูลความรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นมาสะท้อนความเป็นตัวเรา อย่างเช่น “เราสามารถยอมรับในจุดด้อยของสายอาชีพนี้ได้ไหม” “ถ้าเราเลือกคณะนี้เราต้องเรียนหนักมาก เราพร้อมที่จะอดทนไหม” เป็นต้น
“ความเก่ง” มาจากการฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือทำอย่างเพียงพอ จึงจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเก่งกาจในสาขานั้น ๆ ดั่งทฤษฎี 10,000 ชั่วโมงที่กล่าวไว้ว่า “ขอเพียงเราฝึกฝนลงมือทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมง เราก็สามารถเป็นผู้เก่งกาจเชี่ยวชาญได้ในทุกสาขา”
มีคนไม่เพียงกี่ % บนโลกใบที่เกิดมาพร้อม ”พรสวรรค์” แล้วประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องทุ่มเทฝึกฝน หากเรายังหาพรสวรรค์ของตนเองไม่เจอ ก็ให้เราสร้างขึ้นมาเองจากการลงมือทำ ฝึกฝน เรียนรู้ และไม่หยุดทำหรือยอมแพ้ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ
หากมีหลายอย่างที่เราอยากทำ ขอแนะนำให้ใช้เทคนิคการค้นหาตัวตนจากหัวข้อข้างต้นที่กล่าวมา เพื่อค้นหาสิ่งที่ตนเองอยากทำมากที่สุดมาสัก 1 - 2 อย่าง จากหลาย ๆ อย่างที่อยากทำ แล้วลงมือทำ เรียนรู้ ฝึกฝน จนกลายเป็นผู้เก่งกาจเชี่ยวชาญ แล้วหลังจากนั้น เราจะลองทำในสิ่งที่อยากทำเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่มีใครห้ามแต่อย่างใด แต่ขอเพียงว่าให้เลือกลงมือทำในสิ่งที่ถนัดที่สุดเพียงทีละ 1 -2 อย่างให้ประสบความสำเร็จเสียก่อน แล้วค่อยทำสิ่งอื่นต่อไป อย่าเสียเวลาไปกับการทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เพราะมันทำให้เรามีเวลาฝึกฝนทุ่มเทไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งนั้นได้
ที่มาข้อมูล